Home

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

วีธีการสอนภาษาที่เน้นเนื้อหา CBI


วิธีการสอนภาษาที่เน้นเนื้อหา 

(Content-based Instruction)


               Brinton, Snow และ Wesche (1989) ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการสอนภาษาโดยใช้เนื้อหาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ภาษา หรือที่เรียกว่า Content – Based Instruction ( CBI ) วิธีการสอนภาษาที่เน้นเนื้อหาเป็นการสอน ที่ประสานเนื้อหาเข้ากับจุดประสงค์ของการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยมุ่งให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการศึกษาเนื้อหา พร้อมกับพัฒนาภาษาอังกฤษเชิงวิชาการผู้สอนที่ใช้แนวการสอนแบบนี้เห็นว่าครู ไม่ควรใช้เนื้อหาเป็นเพียงแบบฝึกหัดทางภาษาเท่านั้น แต่ครูควรฝึกให้ผู้เกิดความเข้าใจสาระของเนื้อหา โดยใช้ทักษะทางภาษาเป็นเครื่องมือ ครูจะใช้เนื้อหากำหนดรูปแบบของภาษา ( Form ) หน้าที่ของภาษา ( Function ) และทักษะย่อย ( Sub – Skills ) ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้เพื่อที่จะเข้าใจสาระของเนื้อหาและทำกิจกรรมได้ การใช้เนื้อหาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ภาษานี้จะทำให้ครูสามารถสร้างบทเรียน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงได้มากที่สุด ทั้งนี้ครูจะต้องเข้าใจการสอนแบบบูรณาการหรือทักษะสัมพันธ์ ตลอดจนเข้าใจเนื้อหาและสามารถ ใช้เนื้อหาเป็นตัวกำหนดบทเรียนทางภาษา ( Brinton, Snow, Wesche, 1989 )


               สรุป การสอนแบบ Content-based Instruction เป็นวิธีการสอนที่เน้นเนื้อหาเป็นการใช้เนื้อหากำหนดรูปแบบของภาษาหน้าที่ของภาษาและทักษะย่อยที่ผู้เรียนจำเป็นจะต้องเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจสาระของเนื้อหาอย่างแท้จริงซึ่งการใช้เนื้อหาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ภาษาจะทำให้ครูสามารถสร้างบทเรียนสอดคล้องกับสถานการณ์จริงได้มาก

               การสอนภาษาโดยใช้เนื้อหาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ภาษา ( Content – Based Instruction ) การเรียนภาษาต่างประเทศจะได้ผลมากที่สุดถ้าครูสอนให้ผู้เรียนใช้ภาษาในสถานการณ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ทั้งครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนภาษาที่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้ จะจัดการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนฝึกการใช้ภาษาในสถานการณ์ที่เหมือนจริง ครูสอนภาษาต่างประเทศในประเทศไทยส่วนใหญ่สอนทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลในระดับพื้นฐาน ( Basic Interpersonal Communication Skills ) ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนฝึกการใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหน้าที่            ( Functions ) ในสถานการณ์ซึ่งครูจำลองให้เหมือนชีวิตประจำวันมากที่สุด เช่นการซื้อของ การถามหรือการบอกทิศทาง การแนะนำตัวเอง เป็นต้น การสอนลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสื่อสารได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจำนวนมากจะศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น ไม่ว่าจะศึกษาต่อในสาขาวิชาใดก็ตามผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ ( Academic English ) เพื่อศึกษาหาความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาการ การสอนภาษาโดยเน้นเพียงการสื่อสารในชีวิตประจำวัน จึงไม่สามารถเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมในการใช้ภาษาอังกฤษในการศึกษาหาความรู้ต่อไปผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสอนภาษา ได้ศึกษาเปรียบเทียบการเรียนภาษาเพื่อการสื่อสารระหว่างบุคคล และการเรียนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ สรุปว่า ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในระดับพื้นฐานได้ หลังจากการเรียนในระยะเวลา 2 ปีแต่ผู้เรียนไม่สามารถใช้ภาษาเชิงวิชาการได้ ( Grabeและ Stoller, 1997, Cummins, 1983, 1989 ) ซึ่งถ้าผู้เรียนต้องการพัฒนาทักษะภาษาเชิงวิชาการด้านพุทธิพิสัย หรือ Cognitive Academic Language Proficiency ( CALP ) จะต้องใช้เวลาเรียนถึง 7 ปี ( Cummins 1983, 1989 )

               นอกจากนี้ Cummins ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ผู้เรียนส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ผู้เรียนย่อมจะมีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงควรเริ่มสอนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ โดยเน้นวิธีการสอนที่ใช้เนื้อหาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ภาษาในระดับมัธยมศึกษา 
        
               แนวการสอนแบบนี้ ครูจะประสานทักษะทั้งสี่ให้สัมพันธ์กับหัวเรื่อง ( Topic ) ที่กำหนดในการเลือกหัวเรื่องครูจะต้องแน่ใจว่าผู้เรียนมีทักษะและกลวิธีการเรียน ( Learning Strategies ) ที่จำเป็นเพื่อที่จะสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ การสอนภาษาแนวนี้เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเป็นการฝึกกลวิธีการเรียนภาษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจความหมายของภาษาและสามารถนำกลวิธีนี้ไปใช้ได้ตลอด ส่วนเนื้อหาและกิจกรรมการเรียน ครูสามารถปรับแต่งให้มีความหลากหลายมากขึ้น  กิจกรรมการเรียนการสอนในแนวนี้จะกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด และเกิดการเรียนรู้ โดยผ่านการฝึกทักษะทางภาษา กิจกรรมเป็นแบบทักษะสัมพันธ์ที่สมจริง ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้เรียนได้ฟังหรืออ่านบทความที่ได้จากสื่อจริง ( Authentic Material ) แล้วผู้เรียนไม่เพียงแต่ทำความเข้าใจข้อมูลเท่านั้น แต่จะต้องตีความและประเมินข้อมูลนั้น ด้วย ดังนั้นผู้เรียนจะต้องรู้จักการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อที่จะสามารถพูดหรือเขียนเชิงวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ได้ จะเห็นได้ว่าผู้เรียนจะได้ฝึกทั้งทักษะทางภาษา ( Language Skills ) และทักษะการเรียน ( Study Skills ) ซึ่งจะเตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะใช้ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการในสถานการณ์จริงในอนาคต



จุดมุ่งหมายของการสอน

               การสอนแบบ CBI มุ่งเตรียมผู้เรียนให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อหาความรู้ทางวิชาการเพิ่มเติม ซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่แตกต่างไปจากการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารโดยมีแนวการเรียนการสอนที่สำคัญดังนี้ คือ
                   - การสอนแบบยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ( Learner – Centered Approach )
                   - การสอนที่คำนึงถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับภาษา ( Whole Language Approach )
                   - การสอนที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ ( Experiential Learning )
                   - การสอนที่เน้นการเรียนรู้จากการทำโครงงาน ( Project – Based Learning )


               นอกจากนี้ยังเน้นหลักสำคัญว่า ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ภาษาได้ดี ถ้ามีโอกาสใช้ภาษาในสถานการณ์ที่เหมือนจริง และผู้เรียนจะใช้ภาษามากขึ้นถ้ามีความสนใจในเนื้อหาที่เรียน ดังนั้นผู้เรียนจึงต้องนำเนื้อหาที่เป็นจริงและสถานการณ์การเรียนรู้ที่สมจริงมาให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้ภาษา เพื่อที่จะทำความเข้าใจสาระของเนื้อหา โดยผู้เรียนสามารถใช้พื้นความรู้เดิมของตนในภาษาไทยมาโยงกับเนื้อหาของวิชาในภาษาอังกฤษ และที่สำคัญที่สุด คือ แนวการสอนแนวนี้ฝึกให้ผู้เรียนคิดเป็น สามารถวิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลที่ได้จากเนื้อหาที่เรียน และใช้ทักษะทางภาษาเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ ฉะนั้นการเรียนการสอนวิธีนี้จึงเหมาะสมกับการสอนภาษาในระดับประถมศึกษา



วีดีโอการสอนตามแผนการเรียนรู้รูปแบบ CBI


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น