Home

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

วิธีสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร รูปแบบการสอนภาษาที่สองของบิลาซ (B-Slim Model)


B-SLIM Model

                       B-SLIM Model เป็นรูปแบบหนึ่งของการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองเพื่อมุ่งเน้นการสื่อสารโดยอาศัยหลักการและแนวคิดทฤษฎีพัฒนาการเชาวน์ปัญญาของพีอาเจต์ (Piaget) ทฤษฎีพัฒนาการเชาวน์ปัญญาของวิก็อทสกี้ (Vygotsky) และทฤษฎีการเรียนรู้โดยการค้นพบของ             บรูนเนอร์ (Discovery Aproach) ซึ่ง Olenka  Bilash เป็นผู้ออกแบบวิธีการสอน (B-Slim Overview)
                      แนวคิดเกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (Communicative Language Teaching) จุดมุ่งหมายของวิธีสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารมุ่งให้ผู้เรียนใช้ภาษาที่เรียนในการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างกัน และคนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า  ถ้าผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างทางภาษาและคำศัพท์แล้วจะสามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้ แต่ข้อเท็จจริงแล้วพบว่าถึงแม้ผู้เรียนจะเรียนรู้โครงสร้างของภาษาต่างประเทศมาแล้วเป็นอย่างดีก็ยังไม่สามารถพูดคุยหรือสื่อสารกับชาวต่างประเทศ  หรือจะใช้ได้บ้างก็จะใช้ภาษาในลักษณะที่เจ้าของภาษาไม่ใช้กัน  แม้จะเป็นภาษาที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์  ด้วยเหตุนี้  นักภาษาศาสตร์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศจึงได้พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับการสอนภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารขึ้น
                      สุมิตรา  อังวัฒนกุล (2540  :  17–21) กล่าวถึงการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารว่าการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเป็นแนวคิดที่เกิดจากความตระหนักถึงความจริงที่ว่าความรู้ ความสามารถทางด้านศัพท์  ไวยากรณ์  และโครงสร้างทางภาษาเพียงอย่างเดียว  ไม่สามารถช่วยให้ผู้เรียนใช้ภาษาที่เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมในการสื่อสารกับผู้อื่น การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร  เป็นการใช้ภาษาระหว่างผู้รับสารและผู้ส่งสาร  ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าวิธีสอนที่ทำให้ผู้เรียนสามารถนำภาษาไปใช้ในการสื่อสารได้จริง (Actual  Communication)  ได้แก่  วิธีการสอนตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร      (The  Communicative  Approach)  เนื่องจากจุดมุ่งหมายหลักของวิธีการสอนดังกล่าวเน้นความสามารถในการสื่อสาร (Communicative  Competence) ของผู้เรียน    


ขั้นตอนการสอนแบบ B-SLIM

ธูปทอง  กว้างสวาสดิ์  (2544  :  24-30)  ได้สรุปไว้ว่ากิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวสื่อสารมีกิจกรรมที่หลากหลาย  แต่กิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ  คือการสอนภาษาที่สองของ  บิลาช  Bilash’s Second Language Instructional Model  หรือ  B-SLIM Model. ประกอบไปด้วย 5 ส่วน ดังนี้
1. ขั้นวางแผนและการเตรียม  (Planning and Preparation) ขั้นนี้ครูจะเลือกกิจกรรมและเนื้อหาให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรและความสนใจของผู้เรียน นอกจากนั้นครูต้องจัดเตรียมสื่อและอุปกรณ์ ที่จำเป็นเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  สื่อต้องน่าสนใจและสอดคล้องกับเนื้อหา  และควรเป็นสื่อที่เป็นของจริง
2. ขั้นทำความเข้าใจตัวป้อนหรือข้อความรู้ใหม่ (Comprehensible Input)  ขั้นนี้ครูต้องอธิบายความรู้ใหม่  ข้อมูลหรือตัวป้อนใหม่  โดยตั้งอยู่บนฐานความรู้เดิมของผู้เรียน  ครูสามารถให้ตัวป้อนเหล่านี้ ในการที่นักเรียนจะเข้าใจหรือเกิดการเรียนรู้  โดยการขยายความ  อธิบายเพิ่มเติม บิลาช  ได้จำแนกตัวป้อนด้านความรู้ออกเป็น9  ชนิดดังนี้
                          2.1 การรับรู้ภาษา  ( Language Awareness ) บิลาชและทูลาซิวิคซ์ กล่าวถึงการรับรู้ทางภาษาว่า การรับรู้ภาษาเกี่ยวข้องกับเรื่องต่อไปนี้
                                -  ทักษะทางภาษา
                                -  ทัศนคติ
                                -  การเรียนรู้และการใช้ภาษา
                               สิ่งเหล่านี้ผู้สอนต้องบูรณาการเข้าในกิจกรรมการเรียนการสอน และสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เรียน
                         2.2  การออกเสียง  ( Pronunciation )  เป็นส่วนสำคัญของการพูด และเป็นทักษะที่ยากสำหรับผู้เรียนภาษาต่างประเทศก่อนที่ผู้เรียนจะสามารถพูดได้เป็นประโยค เขาต้องออกเสียงคำได้ก่อน  การออกเสียงควรเน้นความคล่องและจังหวะ  การขึ้นเสียงสูงต่ำ ตามบริบทและสถานการณ์
                        2.3  ศัพท์  ( Vocabulary )  สามารถแยกออกเป็น 2 ชนิด คือ Active Vocabulary หมายถึง คำศัพท์ที่ผู้เรียนเข้าใจความหมายออกเสียงได้ถูกต้องและใช้การพูดและเขียนได้ Passive Vocabulary หมายถึง คำศัพท์ที่ผู้เรียนรู้ความหมายและเข้าใจเมื่อพบคำนั้น ในรูปประโยคหรือข้อความ  แต่ไม่สามารถใช้พูดและเขียนได้  คำศัพท์ในการสอนแต่ละครั้งต้องไม่มากหรือน้อยเกินไป และต้องสอนจากศัพท์ที่ใกล้ตัว  หรือคำศัพท์เพื่อการดำรงชีวิต  ( Survival Vocabulary ) หมายถึง ศัพท์ที่ผู้เรียนใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน เช่น ศัพท์เกี่ยวกับ  สัตว์  คำถาม  คำทักทาย
                       2.4  ไวยากรณ์  ( Grammar ) การสอนหลักไวยากรณ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มจะยึดหลักการสอนตามแนวสื่อสาร สามารถสอนได้  2  วิธี คือ
                              2.4.1  การสอนแบบอุปนัย  คือ  การสอนโดยใช้กิจกรรมต่างๆ  ขึ้นมาก่อนแล้วครูและนักเรียนช่วยกันสรุปกฎเกณฑ์
                              2.4.2  การสอนแบบนิรนัย  คือ  การสอนที่เริ่มจากกฎเกณฑ์ แล้วจึงฝึกการใช้กฎเกณฑ์  โดยใช้กิจกรรมต่างๆ หรือให้ทำแบบฝึกหัดเพื่อให้สนองวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน ครูต้องให้ตัวอย่างเพียงพอ และสาธิตการใช้จนผู้เรียนรู้และผู้สอนต้องแม่นกฎเกณฑ์ก่อนที่จะสอนนักเรียน
                      2.5  สถานการณ์และความคล่องแคล่ว  (Situation/Fluency)  การเรียนรู้ภาษาที่สอง   (Second Language: SL)  และภาษาต่างประเทศ  (Foreign Language: FL)  หมายถึง  การพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาได้หลากหลายตามบริบทและสถานการณ์ได้อย่างคล่องแคล่ว
                      2.6  วัฒนธรรม  (Culture)   วัฒนธรรมสามารถแบ่งเป็น 2  ส่วน  คือ  ซีใหญ่                 (Big C)  หมายถึง ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ วรรณคดี ศิลปะดนตรี ซีเล็ก  (Small C)   หมายถึง ขนบธรรมเนียมประเพณี ลักษณะนิสัย  การแต่งกาย  อาหาร การใช้เวลาว่าง  การเรียนภาษาต่างประเทศ คือการเรียนวัฒนธรรมต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถแยกภาษาออกจากวัฒนธรรมได้ การสอนวัฒนธรรมครูควรสอนในรูปของกระบวนการพบปะสังสรรค์  มากกว่าที่จะบอกให้รู้ข้อเท็จจริงทางวัฒนธรรม ครูต้องจัดกิจกรรมเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา
                     2.7  กลวิธีการเรียนรู้  (Learning  Strategy) กลวิธีการเรียนรู้ หมายถึง  การกระทำพฤติกรรม ขั้นตอน และเทคนิคเฉพาะในการเรียนภาษาที่สองและภาษาต่างประเทศ  เช่น  การหาผู้ช่วยในการฝึกการสนทนาเพื่อพัฒนาทักษะพูด  การใช้เทคนิคปรับปรุงปัญหาในการเรียนภาษาของตัวผู้เรียนเอง  ซึ่งมีวิธีการเรียนที่ต่างกัน กลวิธีการเรียนมีความสำคัญเพราะเป็นเครื่องมือสำหรับการใช้ภาษาในการปฏิสัมพันธ์  การจะเลือกเทคนิคที่มีความคล้ายคลึงกัน  และเลือกซ้ำบ่อยครั้งและจะใช้ภาษาในการสื่อสารได้ไม่ดีเท่าที่ควร  ดังนั้นครูจำเป็นต้องรู้และเข้าใจถึงกลวิธีที่หลากหลายและประสบผลสำเร็จ  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียน เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
                     2.8  ทัศนคติ  (Attitude) เป็นองค์ประกอบที่บ่งบอกถึงความเชื่อว่าผู้เรียนมีทัศนคติที่แตกต่างต่อสิ่งต่อไปนี้  คือ  ภาษาเป้าหมาย  (Target Language)   ผู้พูดภาษาเป้าหมาย  (Target Language Speaker)  ค่านิยมสังคมทางการเรียนภาษาเป้าหมาย  ทัศนคติเหล่านี้มีผลต่อความสำเร็จทางการเรียนภาษาที่สอง   การมีทัศนคติด้านบวกต่อภาษาเป้าหมาย และวัฒนธรรมของภาษานั้นมีความสำคัญต่อผู้เรียน  เพราะทัศนคติบวกย่อมเป็นสิ่งเร้าให้ผู้เรียนอยากปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของภาษา นอกจากนั้นทัศนคติด้านบวกยังส่งผลให้ผู้เรียนเลือกใช้กลวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย   อันจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาการเรียนรู้ด้านการฟัง  อ่าน  และเขียนได้อย่างรวดเร็ว  จะเห็นได้ว่าทัศนคติสำคัญมากในการเรียนภาษาที่สอง  ครูควรจำไว้เสมอว่าการแก้ไขทัศนคตินั้น ไม่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้น ต้องใช้เวลาและเทคนิคที่หลากหลาย
                     2.9  ทักษะ (Skill) หมายถึง ทักษะฟัง พูด อ่าน และเขียน และยังรวมไปถึงทักษะอื่นๆ  เช่น ทักษะการแก้ปัญหา  การค้นคว้าวิจัย  การหาความรู้ด้วยตนเอง  การเรียนร่วมกับผู้อื่น
                            2.9.1  ทักษะการฟัง  (Listening)  ทักษะการฟังถือว่าเป็นทักษะแรกในการสื่อสาร  ถ้าฟังไม่รู้เรื่องก็จะไม่สามารถพูดโต้ตอบได้  ดังนั้นครูจำเป็นต้องออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะฟัง  นูนัน และแลมป์  แนะนำว่า  สิ่งสำคัญที่ครูจำเป็นต้องรู้ก่อนที่จะเตรียมกิจกรรม คือ การสอนทักษะฟัง  ควรคำนึงถึงสถานการณ์หรือบริบท กล่าวคือ  เลือกเนื้อหา  ครูควรออกแบบกิจกรรมฝึกการฟังที่หลากหลายและน่าสนใจ  เช่น  ครูให้นักเรียนฟังเทปแล้ววาดภาพ  เป็นต้น
                           2.9.2  ทักษะการพูด  (Speaking) ในการออกแบบกิจกรรมเพื่อเสริมทักษะพูดครูต้องดูว่ากิจกรรมนั้นต้องเริ่มจากง่ายไปหายาก  โดยเริ่มจากกิจกรรมที่ครูควบคุมให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งมีรูปแบบและตัวอย่างให้นักเรียน  กิจกรรมเหล่านี้  เรียกว่า  กิจกรรมภายใต้การควบคุม            (Conversation)  เช่น ในช่วง Intake-Using It  ก่อนที่ครูจะให้นักเรียนฝึกสนทนาครูต้องมีแบบการสนทนา  ( Conversation Matrix )  หรือ  Dialogue ให้นักเรียนหลังจากนั้นจึงให้นักเรียนทำกิจกรรมที่ยากขึ้น  เช่น บทบาทสมมุติ  การเลียนแบบการอภิปราย ในช่วง  Intake-Using It  การออกแบบกิจกรรมจากง่ายไปหายากเป็นการลดความวิตกกังวล ( Anxiety )  ของผู้เรียน
                          2.9.3  ทักษะการอ่าน  ( Reading ) ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติกิจกรรมที่เกี่ยวกับทักษะการอ่าน  ครูต้องจัดกิจกรรมก่อนการอ่าน  ( Preceding  Activity )  เช่น การพูดคุยหรืออภิปราย  ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่สัมพันธ์กับเรื่องที่จะอ่าน  หลังจากนั้นเป็นการแจ้งจุดประสงค์การอ่านว่า  หลังจากการอ่านแล้วนักเรียนต้องได้อะไรบ้าง เช่น ตอบคำถาม  อภิปรายกับเรื่องที่อ่าน  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ  ครูต้องแนะนำคำศัพท์หรือโครงสร้างใหม่ก่อนที่จะให้นักเรียนทำกิจกรรม  กิจกรรมสำหรับพัฒนาทักษะการอ่านจัดได้ทั้งกิจกรรมเดี่ยว  คู่  กลุ่มทั้งชั้น  ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาที่อ่าน
                         2.9.4  ทักษะการเขียน  ( Writing ) บิลาชย้ำว่า ทักษะการเขียนเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนภาษาที่สอง การเรียนรู้การเขียนไม่ใช่ที่เกิดได้โดยธรรมชาติ  เหมือนการพูดสิ่งที่พูดบางครั้งผู้เรียนไม่สามารถเขียนได้  บิลาชได้ออกแบบการสอนเขียนเรียกว่า  แบบ ( Form )  เทคนิค แบบนี้  บิลาชออกแบบจากง่ายไปหายากเพื่อลดสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ ( Affective  Filter ) ซึ่งได้แก่  เจตคติ  แรงจูงใจ  ความวิตกกังวล  เทคนิคการสอนเขียน แบบประกอบไปด้วย 4 ส่วน  ดังนี้
                                 2.9.4.1  ส่วนเอ  ( Quadrant  A )  เรียกว่าส่วน  ศัพท์น้อยกฎน้อย”  เริ่มจากการฝึกเขียนในสิ่งที่ใช้คำศัพท์น้อยและกฎน้อย  เช่น  คำขวัญ  ใบสมัคร  เมนู คำพังเพย  สุภาษิต  ข้อความ  ปริศนา  คำทาย  การ์ด  เป็นต้น
                                2.9.4.2  ส่วนบี  ( Quadrant  B )  เรียกว่าส่วน  ศัพท์มากกฎน้อย”  จำนวนคำศัพท์มีคำศัพท์มากแต่กฎเกณฑ์น้อย  เช่น  ไดอารี่  คำถาม  เพลง  ละครสั้น จดหมายส่วนตัว  โปสเตอร์  แบบสอบถาม  เป็นต้น
                                2.9.4.3  ส่วนซี  ( Quadrant  C )   เรียกว่าส่วน  กฎมากคำศัพท์น้อย”  คือการเขียนต้องใช้กฎเกณฑ์มาก  แต่ใช้คำศัพท์น้อย ได้แก่ การเขียนเกี่ยวกับชีวประวัติ ปกนอกหนังสือ ปฏิทิน บัตรเชิญ  โฆษณา  โปสเตอร์  เกี่ยวกับการท่องเที่ยว  โฆษณาทางโทรทัศน์  เป็นต้น
                               2.9.4.4  ส่วนดี  ( Quadrant  D )  เรียกว่าส่วน  คำศัพท์มากกฎเกณฑ์มาก”  การเขียนในขั้นนี้จะยากขึ้น  เพราะสิ่งที่เขียนนั้นประกอบไปด้วยทั้งกฎเกณฑ์และคำศัพท์เป็นจำนวนมาก  ได้แก่  นิยายผจญภัย  นิทานเปรียบเทียบ  ตำนาน  กฎการเล่นเกม  เขียนบทกวี  การอธิบาย  หนังสือพิมพ์ประจำห้อง  เป็นต้น 
             3. ขั้นกิจกรรมเพื่อความเข้าใจและฝึกทักษะ  (Intake  Activity)  ขั้นนี้  หมายถึง  ช่วงเวลาที่ผู้เรียนรู้  เนื้อหาหรือตัวป้อน  (Input)  ผู้สอนพึงระลึกเสมอว่า  ผู้เรียนไม่สามารถเข้าใจข้อมูล  สาร หรือตัวป้อนทั้งหมดที่ผู้สอนป้อนในขั้นแรก ครูจึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมในขั้นนี้เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสทำสองประการคือ  ประการแรก  ครูต้องจัดกิจกรรมเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจตัวป้อน  เรียกว่า  กิจกรรมเพื่อความเข้าใจ ( Intake – Getting ) กิจกรรมเพื่อความเข้าใจนี้จะใช้เวลาจนกว่าครูจะแน่ใจว่านักเรียนเข้าใจ  Input  ครูอาจจะออกแบบ  4-5  กิจกรรม  แล้วแต่ความยากง่ายของตัวป้อน  กิจกรรมเพื่อความเข้าใจเป็นกิจกรรมที่ง่ายต่อการปฏิบัติมีตัวอย่างแบบแผน  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนลดความกังวลในการปฏิบัติ  ประการที่สอง  หลังจากที่นักเรียนเข้าใจตัวป้อนแล้ว  ครูต้องออกแบบกิจกรรมที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น  เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึก  เรียกว่า  กิจกรรมฝึกใช้ภาษา  ( Intake – Using  It )  กิจกรรมฝึกใช้ภาษาเป็นกิจกรรมเพื่อการสื่อสารและเป็นธรรมชาติมากกว่ากิจกรรมเพื่อความเข้าใจ 
(Getting  It  Activity)
             4. ขั้นผล  (Output)  กิจกรรมขั้นนี้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ภาษานอกห้องเรียนทั้งทักษะ  ฟัง  พูด  อ่านและเขียน  ลักษณะกิจกรรมขั้นนี้เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์และส่วนมากเป็นกิจกรรมเดี่ยว (Individual  Activity)  เช่น  โครงงาน  การเขียนไดอารี่  เรียงความ  เรื่องสั้น  เป็นต้น
             5. ขั้นประเมินผล  (Evaluation)  ขั้นการสอนนี้ครูรวบรวมข้อมูลต่างๆจากการสังเกต  หรือซักถามผู้เรียนในขั้นต่างๆ  เพื่อต้องการทราบปัญหาต่าง และแก้ไขปัญหาในการสอนครั้งต่อไป  ขั้นนี้เป็นขั้นการประเมินผลการเรียนของนักเรียน  ครูอาจใช้การประเมินทักษะตามสภาพจริง (Authentic Assessment) และการสอบเก็บคะแนนปลายภาคเรียน



วีดีโอการสอนตามแผนการสอนรูปแบบ B-Slim

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น