การสอนทักษะการฟังภาษาอังกฤษ
( Teaching English Listening
Skill )
การฟังในชีวิตประจำวันของคนเราจะเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ
การฟังที่ได้ยินโดยมิได้ตั้งใจในสถานการณ์รอบตัวทั่วๆไป ( Casual Listening
) และ การฟังอย่างตั้งใจและมีจุดมุ่งหมาย ( Focused Listening )
จุดมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์ของการฟัง คือ
การรับรู้และทำความเข้าใจใน “สาร” ที่ผู้อื่นสื่อความมาสู่เรา
ทักษะการฟังภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดความชำนาญและมีความสามารถในการฟังอย่างเข้าใจในสารที่ได้รับฟัง
ครูผู้สอนควรมีความรู้และเทคนิคในการสอนทักษะการฟังอย่างไร
จึงจะสามารถจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ประสบผลสำเร็จ
เทคนิควิธีปฏิบัติ
สิ่งสำคัญที่ครูผู้สอนควรพิจารณาในการสอนทักษะการฟัง
มี 2 ประการ คือ
1.1 สถานการณ์ในการฟัง สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการฟังภาษาอังกฤษได้นั้น
ควรเป็นสถานการณ์ของการฟังที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง สถานการณ์จริง หรือ
สถานการณ์จำลองในห้องเรียน ซึ่งอาจเป็น การฟังคำสั่งครู การฟังเพื่อนสนทนา
การฟังบทสนทนาจากบทเรียน การฟังโทรศัพท์ การฟังรายการวิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ ฯลฯ
1.2 กิจกรรมในการสอนฟัง ซึ่งแบ่งเป็น 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมนำเข้าสู่การฟัง
( Pre-listening ) กิจกรรมระหว่างการฟัง หรือ ขณะที่สอนฟัง ( While-listening
) กิจกรรมหลังการฟัง ( Post-listening ) แต่ละกิจกรรมอาจใช้เทคนิค
ดังนี้
1) กิจกรรมนำเข้าสู่การฟัง (Pre-listening ) การที่ผู้เรียนจะฟังสารได้อย่างเข้าใจ
ควรต้องมีข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับสารที่ได้รับฟัง
โดยครูผู้สอนอาจใช้กิจกรรมนำให้ผู้เรียนได้มีข้อมูลบางส่วนเพื่อช่วยสร้างความเข้าใจในบริบท
ก่อนการรับฟังสารที่กำหนดให้ เช่นการใช้รูปภาพ
อาจให้ผู้เรียนดูรูปภาพที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะได้ฟัง สนทนา หรืออภิปราย หรือ
หาคำตอบเกี่ยวกับภาพนั้น ๆการเขียนรายการคำศัพท์
อาจให้ผู้เรียนจัดทำรายการคำศัพท์เดิมที่รู้จัก
โดยใช้วิธีการเขียนบันทึกคำศัพท์ที่ได้ยินขณะรับฟังสาร หรือการขีดเส้นใต้
หรือวงกลมล้อมรอบคำศัพท์ในสารที่อ่านและรับฟังไปพร้อมๆกันการอ่านคำถามเกี่ยวกับเรื่อง
อาจให้ผู้เรียนอ่านคำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในสารที่จะได้รับฟัง
เพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบแนวทางว่าจะได้รับฟังเกี่ยวกับเรื่องใด เป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าเกี่ยวกับข้อมูลประกอบการรับฟัง
และค้นหาคำตอบที่จะได้จากการฟังสารนั้นๆ การทบทวนคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
อาจทบทวนคำศัพท์จากความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะปรากฏอีกในสารที่จะได้รับฟัง
เป็นการช่วยทบทวนข้อมูลส่วนหนึ่งของสารที่จะได้เรียนรู้ใหม่จากการฟัง
2) กิจกรรมระหว่างการฟัง หรือ
กิจกรรมขณะที่สอนฟัง ( While-listening ) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติในขณะที่รับฟังสารนั้นกิจกรรมนี้มิใช่การทดสอบการฟัง
แต่เป็นการ“ฝึกทักษะการฟังเพื่อความเข้าใจ” กิจกรรมระหว่างการฟังนี้
ไม่ควรจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติทักษะอื่นๆ เช่น อ่าน หรือ เขียน หรือ
พูดมากนัก ควรจัดกิจกรรมประเภทต่อไปนี้
- ฟังแล้วชี้ เช่น
ครูพูดประโยคเกี่ยวกับวัตถุ สิ่งของหรือ สถานที่รอบตัว ภายในชั้นเรียน
ผู้เรียนชี้สิ่งที่ได้ฟังจากประโยคคำพูดของครูฟังแล้วทำเครื่องหมายบนภาพ เช่น
ผู้เรียนแต่ละคนมีภาพคนละ 1 ภาพ ในขณะที่ครูอ่านประโยคหรือข้อความ
ผู้เรียนจะทำเครื่องหมาย X ลงในบริเวณภาพที่ไม่ตรงกับข้อความที่ได้ฟัง
- ฟังแล้วเรียงรูปภาพ เช่น
ผู้เรียนมีภาพชุด คนละ 1 ชุด ครูอ่านสาร ผู้เรียนเรียงลำดับภาพตามสารที่ได้ฟัง
โดยการเขียนหมายเลขลงใต้ภาพทั้งชุดนั้น
- ฟังแล้ววาดภาพ เช่น
ผู้เรียนมีกระดาษกับปากกาหรือ ดินสอ
ครูพูดประโยคที่มีคำศัพท์ที่ต้องการให้นักเรียนวาดภาพ เช่น
คำศัพท์เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของ สถานที่ สัตว์ ผลไม้ ฯลฯ นักเรียนฟังแล้ววาดภาพสิ่งที่เกี่ยวกับคำศัพท์ที่ได้ฟัง
-
ฟังแล้วจับคู่ภาพกับประโยคที่ได้ฟัง ผู้เรียนมีภาพคนละหลายภาพ
ครูอ่านประโยคทีละประโยค ผู้เรียนเลือกจับคู่ภาพที่สอดคล้องกับประโยคที่ได้ฟัง
โดยการเขียนหมายเลขลำดับที่ของประโยคลงใต้ภาพแต่ละภาพ
-ฟังแล้วปฏิบัติตาม
ผู้สอนพูดประโยคคำสั่งให้ผู้เรียนฟัง
ผู้เรียนปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้ฟังแต่ละประโยค
- ฟังแล้วแสดงบทบาท
ผู้สอนพูดประโยคหรือข้อความเกี่ยวกับบทบาทให้ผู้เรียนฟัง
ผู้เรียนแสดงบทบาทตามประโยคที่ได้ฟังแต่ละประโยค หรือข้อความนั้น
- ฟังแล้วเขียนเส้นทาง
ทิศทาง ผู้เรียนมีภาพสถานที่ต่างๆ คนละ 1 ภาพ
ผู้สอนพูดประโยคหรือข้อความเกี่ยวกับเส้นทาง ทิศทาง ที่จะไปสู่สถานที่ต่างๆ
ในภาพนั้น ให้ผู้เรียนฟัง ผู้เรียนลากเส้นทางจากตำแหน่งสถานที่แห่งหนึ่งไปสู่ตำแหน่งต่างๆ
ตามที่ได้ฟัง
3) กิจกรรมหลังการฟัง ( Post-listening
) เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ภาษาภายหลังที่ได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมระหว่างการฟังแล้วเช่น
อาจฝึกทักษะการเขียน สำหรับผู้เรียนระดับต้น โดยให้เขียนตามคำบอก (Dictation)
ประโยคที่ได้ฟังมาแล้ว เป็นการตรวจสอบความรู้
ความถูกต้องของการเขียนคำศัพท์ สำนวน โครงสร้างไวยากรณ์ ของประโยคนั้น
หรือฝึกทักษะการพูด สำหรับผู้เรียนระดับสูง โดยการให้อภิปรายเกี่ยวกับสารที่ได้ฟัง
หรืออภิปรายเกี่ยวกับอารมณ์หรือเจตคติของผู้พูด เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น